“ปัญหาหลังน้ำท่วม” สำหรับหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก

ช่วงกลางเดือนตุลาคมจนถึงต้นพฤศจิกายนนับเป็นครั้งแรกของเมืองไทยที่มีฝนตกอย่างหนัก โดยเริ่มที่เขาใหญ่ก่อนและขยายตัวไปสู่ภาคอีสานต่อด้วยภาคเหนือและภาคกลาง จนสุดท้ายไปลงที่ภาคใต้ ฝนช่วงนี้ถึงแม้จะตกในช่วงสั้น ๆ แต่ปริมาณน้ำฝนก็ถือว่ามีปริมาตร 3-400 มม.ในเวลาเพียง 3-4 วัน ซึ่งถือว่าสูงมาก เพราะโดยเฉลี่ยต่อฤดูฝนที่มีเวลากว่า 1,000 วันนั้น ฝนจะตกถัวเฉลี่ยระหว่าง 1,200- 1,500 มม.เท่านั้น จึงถือได้ว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบจากฝนตกทุกภาคครั้งนี้มีน้ำท่วมอย่างหนักและรวดเร็วมากที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งของประเทศไทยเลยทีเดียว

 

เมื่อปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาก็ถือปัญหาหลังน้ำท่วมโดยเฉพาะในที่ลุ่มที่ยังมีน้ำขังและกลายเป็นน้ำเน่าเสีย แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนที่ยังสัญจรไปมา ปัญหาสารพัดโรคก็กำลังจะขยายตัวเพิ่มขึ้น พร้อมด้วยปัญหาเรื่องความเสียหายจากทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นพืชผลทางด้านการเกษตร หรือบ้านช่องยานพาหนะที่ยังคงจมกับน้ำที่กำลังเน่าเสีย

 

ผมยังไม่รู้เหมือนกันว่ารัฐบาลจะสามารถระบายน้ำเน่าเสียออกจากออกจากที่ราบลุ่มต่าง ๆ ได้เมื่อใด ที่หนักขึ้นไปอีกคือตอนนี้ลมหนาวเริ่มเข้ามาแล้ว ยิ่งทำให้ภาระของประชาชนที่ถูกน้ำท่วมนั้นก็ยิ่งเพิ่มปัญหามากขึ้น สำหรับคนยากจนแล้วถือว่ายิ่งทุกข์ร้อนเพิ่มขึ้นไปอีก

 

ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งที่ผมมองว่าเป็นภาระเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่มีเรื่องน้ำท่วมคือกระสอบทรายที่ในแต่ละปีทั้งประเทศจะต้องสร้างขึ้นมาเพื่อกั้นน้ำชั่วคราวเป็นล้าน ๆ กระสอบ เมื่อใช้เสร็จแล้วกระสอบทรายเหล่านี้ก็ผุพัง ดินทรายต่าง ๆ กลับสร้างภาระอนาคตต่อไปคือทำให้ท่อระบายน้ำหรือคูคอลงจมสู่แม่น้ำค่อย ๆ ตื้นเขิน เป็นภาระต่อการขุดลอกคูคลองหรือท่อระบายน้ำทุกปี ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องวนเวียนเหมือนตำข้าวสารกรอกหม้อที่หากเรายังไม่มีการสร้างระบบกันน้ำท่วมถาวร ทุกอย่างก็จะต้องนำกระสอบทรายมากั้นน้ำท่วมชั่วคราวกันทุกปีและก็จะสร้างภาระให้ท่อระบายน้ำคูคลองตลอดจนแม่น้ำทุกสายต้องมาขุดลอกกันทุกปี

 

ดังนั้นการที่ประเทศไทยไม่มีการวางแผนและการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมเมืองต่างๆ อย่างถาวร เพียงแต่เอากระสอบทรายมากั้นน้ำชั่วคราวแล้วกลายมาเป็นต้องมาขุดลอกคลองก็วนเวียนเป็นเช่นนี้ นับเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณอย่างไม่รู้จบในระยะยาว

 

ผมรู้สึกเสียดายต่อค่าใช้จ่ายเหล่านี้ที่เกิดจากการไม่มีวิสัยทัศน์ในการจัดการเรื่องน้ำท่วมระยะยาวได้ หากเรามามองกันถึงปัญหาหลังน้ำท่วมก็คือความเสียหายทั้งพืชผล ทรัพย์สินบ้านเรือน โรคภัยไข้เจ็บและงบประมาณแผ่นดิน หรือแม้แต่ชีวิตของผู้คนที่ล้มตายไปเกือบ 200 คน ถือเป็นความเสียหายที่รุนแรงมากที่สุดในปีนี้

 

ผมเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้จะยังคงเกิดขึ้นซ้ำซาก โดยปีไหนที่ฝนตกไม่รุนแรงก็ถือว่าโชคดีไป แต่หากยังเป็นอย่างที่เป็นอยู่นี้ผมอยากเสนอให้คนไทยลองไปศึกษาประเทศมาเลเซียดูว่าทำไมเขาจึงไม่ค่อยมีปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝนและไฟป่า หรือน้ำแห้งในฤดูร้อน ทุกอย่างอยู่ที่การบริหารสิ่งแวดล้อมของผู้นำทั้งสิ้น